หลักเกณฑ์การคัดเลือกเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
 
 

เทคโนโลยีที่จัดว่าเป็นเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงานภายใต้โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
ในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในครั้งนี้ ต้องเป็นเทคโนโลยีที่มีลักษณะตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

มีศักยภาพในการประหยัดพลังงานสูง
เนื่องจากเทคโนโลยีทั่วไปที่มีการประยุกต์ใช้งานในปัจจุบันเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ในระบบหรืออุปกรณ์ สามารถก่อให้เกิดผลการประหยัดพลังงานอยู่ในระดับหนึ่ง ดังนั้นเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ควรเป็นเทคโนโลยีที่สามารถก่อให้เกิดผลการประหยัดพลังงานที่สูงกว่าเทคโนโลยีทั่วไปที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน

          หลักเกณฑ์

          ต้องเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการประหยัดพลังงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 (กรณี Utility) และไม่น้อยกว่าร้อยละ 15
(กรณีกระบวนการผลิต) เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีเดิมที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

ยังไม่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศไทย
การพิจารณาคัดเลือกเทคโนโลยีเชิงลึกที่จะสนับสนุนงบประมาณสำหรับดำเนินการ
ควรเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่มีการนำมาใช้งานในประเทศไทยอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้งาน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลการประหยัดพลังงานโดยรวมของประเทศสูงมากขึ้น

          หลักเกณฑ์
          ความแพร่หลายของเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการ ต้องเป็นเทคโนโลยีที่มีการประยุกต์ใช้งานในสถานประกอบการต่างๆ ในทุกๆกลุ่มอุตสาหกรรมและธุรกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน รวมกันทั้งหมดไม่เกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสถานประกอบการทั้งหมดที่สามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้งานเพื่อการอนุรักษ์พลังงานได้

มีศักยภาพในการขยายผลเพื่อการอนุรักษ์พลังงานสูง
เทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการ ควรเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปขยายผลใช้งานเพื่อการอนุรักษ์พลังงานในสถานประกอบการต่างๆ ในทุกๆกลุ่มอุตสาหกรรมและธุรกิจของประเทศไทยได้อย่างกว้างขวางในอนาคต เพื่อให้เกิดผลการประหยัดพลังงานโดยรวมของประเทศสูงสุด

          หลักเกณฑ์

          เทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการ ต้องเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานในสถานประกอบการต่างๆ ในทุกๆกลุ่มอุตสาหกรรมและธุรกิจของประเทศไทย ซึ่งมีการใช้พลังงานในระบบที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า 300 ktoe/ปี

มีระยะเวลาคืนทุนสั้น
เทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการ ควรมีระยะเวลาการคืนทุนที่เหมาะสมเพื่อความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

          หลักเกณฑ์

          เทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการ ต้องเป็นเทคโนโลยีที่มีผลตอบแทนทางการเงินต่อการลงทุน ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี

มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อย
เทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการ ควรคำนึงถึงการใช้งานที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

          หลักเกณฑ์
          เทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการ ต้องเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโลกหรือมีค่าไม่เกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดของประเทศไทย

ไม่มีการสาธิตในโครงการสาธิตเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงานระยะที่ 2
เทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ที่ไดรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการในโครงการฯ ระยะที่ 3 ต้องเป็นเทคโนโลยีที่ไม่เคยทำการสาธิตในโครงการฯ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 มาก่อน

          หลักเกณฑ์
          ต้องเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้ทำการสาธิตในโครงการสาธิตเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 1 จำนวน 6 เทคโนโลยี
ดังนี้

               1. หัวเผาแบบรีเจนเนอเรทีฟ
               2. การลดความชื้นด้วยฮีทไปป์
               3. การใช้ปั๊มความร้อนสำหรับการทำความร้อน
               4. การลดความชื้นด้วยสารดูดความชื้นเหลว
               5. การบำบัดและปรับสภาพน้ำด้วยโอโซน
               6. เครื่องอบตกแต่งสำเร็จผ้าผืนประสิทธิภาพสูง

          ต้องเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้ทำการสาธิตในโครงการสาธิตเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 2 จำนวน 6 เทคโนโลยี ดังนี้

               1. เครื่องทำน้ำเย็นชนิดปรับความเร็วรอบของคอมเพรสเซอร์ (VSD Chiller)
               2. หัวเผาแบบเซล์ฟรีคัพเปอร์เรทีฟ (Self-Recuperative Burner)
               3. ปั๊มความร้อนแบบดูดซึม (Absorption Heat Pump)
               4. เครื่องทำน้ำเย็นแบบดูดซึม (Absorption Chiller)
               5. หัวเผาแบบ Oxy Fuel
               6. เครื่องฉีดพลาสติกชนิดใช้ไฟฟ้าทั้งหมด (All Electric Injection Machine)

 
 

ผลการคัดเลือกขั้นสุดท้าย
 
 

การพิจารณาคัดเลือกเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงานขั้นสุดท้าย เพื่อสนับสนุนงบประมาณสำหรับการลงทุนดำเนินการ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการส่งเสริมเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาได้ตามความเหมาะสม ในกรณีที่เกิดปัญหาหรืออุปสรรคซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์
 
 


หลักเกณฑ์การคัดเลือกสถานประกอบการ
 
 

1. หลักเกณฑ์การคัดเลือกสถานประกอบการ

สถานประกอบการที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ต้องมีคุณสมบัติและความพร้อมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ ดังนี้

          1. เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย

          2. เทคโนโลยีที่สถานประกอบการเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนต้องมีรายละเอียด ดังนี้

                    2.1 ต้องเป็นเทคโนโลยีตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงานของโครงการ

                    2.2 ต้องเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพการประหยัดพลังงานที่เกิดจากการติดตั้งใช้งานเพื่อทำการสาธิตคิดเป็นมูลค่าผลประหยัดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อปี

                    2.3 ต้องเป็นเทคโนโลยีที่มีการนำไปใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์

          3. สถานประกอบการที่สมัครเข้าร่วมโครงการต้องไม่เสนอเทคโนโลยีที่สถานประกอบการนั้นๆ เคยได้รับการสนับสนุนงบประมาณด้านการลงทุน หรืออยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนงบประมาณด้านการลงทุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานภายใต้โครงการอื่น ๆ ยกเว้น โครงการ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และ โครงการ ESCO FUND

          4. ต้องสามารถดำเนินการจัดหา ติดตั้งและทดสอบการใช้งานสำหรับเทคโนโลยีที่ขอรับการสนับสนุน ให้แล้วเสร็จไม่เกิน 15 มกราคม 2560 โดยต้องแสดงแผนงาน และข้อมูลสนับสนุนด้านเทคนิคที่ชัดเจน

          5. ต้องอนุญาตให้ พพ. นำผลสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการไปเผยแพร่ขยายผลให้กับกลุ่มเป้าหมายรายอื่น ๆ ได้

          6. ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงของสถานประกอบการ โดยต้องมีหนังสือยืนยันเข้าร่วมโครงการที่ลงนามโดย กรรมการผู้จัดการ หรือเทียบเท่า และต้องมีการจัดตั้งทีมงานด้านอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีการกำหนดผู้รับผิดชอบและอำนาจหน้าที่สำหรับตำแหน่งต่างๆที่ชัดเจนจากทางผู้บริหารของสถานประกอบการ

          7. การคัดเลือกขั้นสุดท้าย ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการส่งเสริมเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งคณะกรรมการฯ สามารถปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาได้ตามความเหมาะสม ในกรณีที่เกิดปัญหาหรืออุปสรรคซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์

2. เงื่อนไขการดำเนินโครงการ

          1. กรณีสถานประกอบที่สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นโรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 พพ. จะพิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการลงทุนแก่โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 และฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2550 แล้วเท่านั้น

          2. สถานประกอบต้องดำเนินการจัดหาและติดตั้งเครื่องมือวัดที่จำเป็นในการตรวจวัดพิสูจน์ผลประหยัดให้ครบถ้วน

 
 

หลักเกณฑ์การให้การสนับสนุนการลงทุน
 
 

1. แนวทางการให้การสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จะให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการลงทุนสำหรับสถานประกอบการที่สนใจนำเทคโนโลยีที่ผ่านหลักเกณฑ์การคัดเลือกเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน มาประยุกต์ใช้งานในลักษณะของโครงการสาธิต โดย พพ. จะให้การสนับสนุนในรูปแบบของเงินอุดหนุนการลงทุนแบบให้เปล่าจำนวนหนึ่ง ตามข้อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ

2. เงื่อนไข และวิธีการในการให้เงินอุดหนุนแก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ
          
          2.1 เงื่อนไขการให้การสนับสนุนการลงทุน


                    2.1.1 พพ. จะให้การสนับสนุนการลงทุนกับสถานประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการในรูปแบบของเงินให้เปล่าในอัตราร้อยละ 40 ของวงเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 6 ล้านบาท ต่อสถานประกอบการ
                    
                    2.1.2. ค่าใช้จ่ายที่ พพ. จะพิจารณาให้การสนับสนุนการลงทุนกับสถานประกอบการ ประกอบด้วย

                              1. ค่าอุปกรณ์และค่าติดตั้งเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

                              2. ค่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและออกแบบทางวิศวกรรม (Detail Engineering Design) สำหรับเทคโนโลยีเชิงลึกฯ ที่จะดำเนินการติดตั้งใช้งานในสถานประกอบการ

                              3. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการส่งเสริมเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
ทั้งนี้ สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต้องแสดงหลักฐานการจ่ายเงินสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละรายการที่จะขอรับการสนับสนุนตามเงื่อนไขที่กำหนดให้ถูกต้องและครบถ้วน

                     2.1.3 พพ.ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาอนุมัติเงินสนับสนุนการลงทุนให้กับสถานประกอบการตามหลักเกณฑ์ ความสมบูรณ์และความถูกต้องของเอกสารหลักฐานที่ได้รับจากสถานประกอบการ

                     2.1.4 พพ.ขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่อนุมัติเงินสนับสนุน ในกรณีที่ผลประหยัดพลังงานจริงต่ำกว่าผลประหยัดพลังงานตามระบุในหลักเกณฑ์ของโครงการฯ

          2.2 วิธีการให้เงินสนับสนุนการลงทุนแก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ

การให้เงินสนับสนุนการลงทุนแก่สถานประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ มีดังนี้

                    จ่ายเงินเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของวงเงินที่ได้รับการสนับสนุนทั้งหมด เมื่อสถานประกอบการดำเนินการติดตั้งหรือปรับปรุงเครื่องจักร/อุปกรณ์ ณ สถานที่ใช้งานจริง และผ่านการทดสอบการใช้งานของเครื่องจักร/อุปกรณ์ดังกล่าว ที่ได้ผลเป็นไปตามข้อกำหนดในรายงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการฯ แล้ว โดยสถาน-ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนต้องจัดเตรียมเอกสารหลักฐานแสดงรายละเอียดการติดตั้งและทดสอบของเครื่องจักร/อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ประกอบในการติดตั้งที่แล้วเสร็จให้สมบูรณ์ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานแสดงค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามวงเงินที่ได้รับการสนับสนุนจาก พพ.

                    ประกอบด้วยเอกสารอย่างน้อย ดังนี้

                     1. สำเนาใบสั่งซื้อ
                     2. สำเนาใบเสร็จรับเงิน สำหรับอุปกรณ์แต่ละรายการที่จะขอรับการสนับสนุนการลงทุน
                     3. เอกสารแสดงการรื้อถอนและทำลายเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เดิมซึ่งถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการสาธิตเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 3
                     4. เอกสารแสดงรายละเอียดทางเทคนิคของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่จะขอรับการสนับสนุนการลงทุน (Technical Specification)
                     5. เอกสารแสดงผลการตรวจรับและทดสอบการทำงานของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่จะขอรับการสนับสนุนการลงทุน ซึ่งได้ดำเนินการตรวจรับและทดสอบผลการทำงานร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยระหว่างผู้จำหน่ายและสถานประกอบการ
                     6. เอกสารหรือหลักฐานอื่นๆ เพื่อให้สามารถพิจารณาค่าใช้จ่ายที่จะขอรับการสนับสนุนการลงทุนได้โดยถูกต้อง
 


 
 
 
กลุ่มวิชาการ สำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
เชิงสะพานกษัตริย์ศึก ยศเส ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร. 02-223-0021-9, 02-222-4102-9
ปรับปรุงล่าสุด 1 เมษายน 2559